บทความทั่วไป : ยิ่งเพิ่มภาษี ยิ่งลดนักดื่ม: ความหวังของสังคมไทย
ในวันเข้าพรรษาของทุกปีคือวันงดดื่มสุราแห่งชาติ แคมเปญเชิญชวนที่มักได้ยินช่วงวันเข้าพรรษา คงไม่พ้นกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา เพราะจะเป็นช่วงโอกาสทองที่นักดื่มบางคนอาจเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกดื่มสุรา เบียร์ ได้อย่างถาวร
ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ.2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่านักดื่มปัจจุบันสัดส่วนมากที่สุดอยู่ในกลุ่มอายุ 25-44 ปี [1] แม้ว่าจะมีผู้คนบางส่วนหันไป บริโภคแอลกอฮอลล์ 0% ซึ่งเป็นเครื่องดื่มทางเลือกสำหรับผู้อยากจะดื่มแต่ไม่อยากเสียสุขภาพ [2] แต่ก็มีโอกาสเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ในอนาคตได้ เมื่อถึงจังหวะหนึ่งที่อยากเปลี่ยนจากการดื่มแอลกอฮอล์ 0% เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บ้าง เมื่อนั้นนักดื่มหน้าใหม่ก็ได้เกิดขึ้นมา นอกจากนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา ระหว่างเดือน มกราคม – กันยายน 2565 พบว่าข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจผับบาร์ สถานบริการกลางคืน เกิดขึ้นใหม่ 102 ราย เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 200%[3] ทำให้แนวโน้มจะพบนักดื่มปัจจุบัน นักดื่มประจำ นักดื่มหน้าใหม่ เพิ่มขึ้นได้อีก การสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ระดับประเทศ พ.ศ.2564 และ 2565 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า มีผู้ดื่มแอลกอฮอลล์เป็นประจำเกือบทุกวัน/สัปดาห์ ในปี 2565 อยู่ที่ 10.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีนักดื่มประจำเกือบทุกวัน/สัปดาห์อยู่ที่ 9.5%
การดื่มสุราเป็นประจำ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ และยังเป็นต้นเหตุของเหตุร้ายอันตราย อุบัติเหตุทั้งปวงอีกด้วย ประเทศไทยจึงคิดมาตรการมากมายเพื่อที่จะลดการบริโภคน้ำเมา เพื่อสุขภาวะโดยรวมของประเทศ เช่น การรณรงค์ ประกาศ ให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของการดื่มสุรา ทำการวิจัยเกี่ยวกับการดื่มสุราว่ามีผลต่อพฤติกรรมที่รุนแรง [4] เป็นต้น
แต่ก็มีหนึ่งวิธีที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ…
การเพิ่มภาษีเบียร์ สุรา แอลกอฮอลล์ 0%
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2566 จะปฎิรูปโครงสร้างภาษีสินค้า หนึ่งในนั้นก็คือ การเพิ่มพิกัดภาษีบุหรี่ไฟฟ้า และการเพิ่มพิกัดภาษีเบียร์ สุรา แอลกอฮอล์ 0% [5]
ดังนั้นเลยมีการเพิ่มภาษีของเครื่องดื่มประเภทนี้ขึ้น เพื่อที่จะทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น และทำให้ความต้องการซื้อนั้นลดลงไปโดยปริยาย และเป็นไปตามกลไกของตลาดด้วย[6] สิ่งของที่ยิ่งเป็นที่ต้องการราคาจะแพงขึ้น
หากวิเคราะห์จากผลสำรวจและมองภาพรวมของประเทศเราตอนนี้ ภาครัฐพยายามปรับตัวให้ทันกับการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% ที่มีแนวโน้มจะทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ในอนาคต มาตรการกำหนดพิกัดภาษีให้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% น่าจะช่วยลดการเกิดขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่ได้ ก็คงต้องรอดูผลลัพธ์ในระยะยาวว่ามาตรการนี้ได้ผลมากน้อยเพียงใด เพราะดูแล้วก็คงเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ง่ายๆแน่นอน
โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน ขอแนะนำว่าให้มีสติในการบริโภค หรือ ถ้าสามารถลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ได้ก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาวะของทุกท่านเอง
อ้างอิง
[1] ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินรินทร์ หาดใหญ่ สงขลา (2565) . แบบแผนและแนวโน้มพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทย , หน้า 7-8.
[2] เบียร์แอลกอฮอล์ 0% ดื่มแล้วปลอดภัย ไม่เสี่ยงโรคจริงหรือ? . [อินเทอร์เน็ต] . [สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566]. จาก: https://www.beartai.com/hackforhealth/good-health/1199212
[3] ร้านอาหาร ผับ บาร์ แห่จดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่เพียบ รับท่องเที่ยวฟื้น . [อินเทอร์เน็ต] . [สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566]. จาก: https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2531821
[4] สริตา ธีระวัฒน์สกุล , จิราพร สุวรรณธีรางกูร , วรากรณ์ ปัญณวลี (2549) . การดื่มและมาตรการเพื่อลดการดื่มสุรา กรณีศึกษา 2 ชุมชนภาคเหนือ , หน้า 25-27.
[5] สรรพสามิต เล็งขึ้นภาษีสุรา - เบียร์ หวังลดการบริโภค [อินเทอร์เน็ต] . [สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566]. จาก: https://www.thaipbs.or.th/news/content/319214
[6] เพิ่มภาษีสรรพสามิต ราคาเหล้า-บุหรี่ พุ่ง! ลดการบริโภคได้จริงไหม . [อินเทอร์เน็ต] . [สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566]. จาก: https://thestandard.co/increase-alcohol-cigarette-tax/