ข่าวประชาสัมพันธ์

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน? วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
หน้าหลัก / ข่าวประชาสัมพันธ์ / เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน? วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
17/12/2564 | 898 ครั้ง

สุขภาวะทางเพศเป็นองค์ประกอบคุณภาพชีวิตทุกคนในทุกสังคมทั่วโลก

การรณรงค์ส่งเสริม “ความเสมอภาคทางเพศ” ให้มีความเสมอภาคของคุณภาพชีวิตและความสุข ส่งผลให้พื้นที่ของ “เพศหลากหลาย” กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากยิ่งขึ้น อาทิ การประกาศเป็นวาระแห่งชาติว่าด้วย “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”  มหาวิทยาลัยหลายแห่งประกาศให้สิทธินักศึกษาสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถีได้

“เพศหลากหลาย” กับ SDG

ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (the Sustainable Development Goals: SDG) เป้าหมายที่ 3 (Good Health and Well-being) และ 4 (Quality Education) มุ่งเน้นสร้างเสริมให้คนทุกเพศวัยในประเทศมีสุขภาพดี อยู่ดี กินดี มีความสุข เคารพสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึง ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งได้รับการขานตอบจากภาคเอกชนหลากหลายสาขาร่วมกันลงนามในข้อตกลง SDG กับองค์การสหประชาชาติ สนับสนุนและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียม การมีส่วนร่วม การให้เกียรติ และการไม่เลือกปฏิบัติ สำหรับกลุ่ม “เพศหลากหลาย”

องค์กรแห่งความสุข กับ ความหลากหลายทางเพศ 

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการสำรวจรายปี คุณภาพชีวิตและความสุขคนทำงาน ด้วยเครื่องมือ HAPPINOMETER แบบสำรวจตนเองทั้งระบบ paper-based และ online-based ผลสำรวจ “องค์กรแห่งความสุข” ปี 2563 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 25,955 ราย  ซึ่งกำลังทำงานอยู่ใน 436 องค์กรทั่วประเทศ มีผู้ระบุว่าเป็น “เพศหลากหลาย” จำนวน 212 คน คิดเป็นสัดส่วน 0.8% เป็นคน Gen Y (อายุ 18–33 ปี) มากที่สุด จำนวน 145 คน ขณะที่ การสำรวจ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ปี 2562 ด้วย HAPPINOMETER ชุดเดียวกัน จากบุคลากรที่กำลังปฏิบัติงาน จำนวน 30,240 ราย ใน 25 มหาวิทยาลัย มีผู้ระบุว่าเป็นเพศหลากหลาย จำนวน 210 คน คิดเป็นสัดส่วน ประมาณ 0.7% เป็นคนทำงาน Gen Y (อายุ 18–33 ปี) มากที่สุด จำนวน 102 คน

ร้อยละเพศหลากหลายจำแนกตามเจเนอเรชันและประเภทองค์กรแห่งความสุข

Generation Happy Workplace 2563 Happy University 2562
จำนวน ร้อยละ จำนวน ร้อยละ
Gen Y (18-33) 145 68.4 102 48.6
Gen X (24-53) 53 25.0 97 46.2
Gen BB (54+) 1 0.5 6 2.9
ไม่ระบุ 13 6.1 5 2.4
รวม 212 100 210 100

 

“เพศหลากหลาย” ในสังคมทั่วโลก

สิ่งที่น่าจับตาคือจำนวน “เพศหลากหลาย” เริ่มเห็นชัดขึ้นในแต่ละสังคม มีบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินที่ให้บริการกับกลุ่มเพศหลากหลาย(LGBT Capital) รายงานข้อมูลปี 2563 พบ จำนวนที่เปิดเผยของกลุ่มเพศหลากหลาย ประมาณ 483 ล้านคน จากประชากรโลก 7.4 พันล้านคน ในจำนวนนี้ 288 ล้านคนอยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยเป็นคนในประเทศจีนประมาณ 85 ล้านคน อินเดีย 80 ล้านคน ญี่ปุ่น 8 ล้านคนและ ไทย 4 ล้านคน (หรือประมาณ 0.83%) 

การเปลี่ยนผ่าน “ภาพจำ” ของวิวัฒนาการ “เพศหลากหลาย”  

ที่น่าสังเกต การนำเสนอสถานการณ์ การเปลี่ยนผ่าน วิวัฒนาการ “เพศหลากหลาย” บนความเสมอภาคทางเพศ ที่นอกจากมุ่งเน้นประเด็น คุณภาพชีวิตและความสุขที่ยั่งยืนตามแนวคิดของ  Happy SDG ที่ “เพศหลากหลาย” เป็นส่วนหนึ่งของคนทุกเพศทุกวัยในพื้นที่สังคมและวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การรับรู้ วิธีคิด และกฎหมาย ที่ส่งต่อไปยัง วิถีปฏิบัติต่อกลุ่ม “เพศหลากหลาย” ยังพบว่าเป็น “ภาพจำ” “ประสบการณ์” และ “ชุดคิด” ที่สอดแทรกไปกับวิถีการเปลี่ยนผ่านบนพื้นที่นั้นๆ ร่วมกันอย่างท้าทาย

ความเข้าใจ การสัมผัสจากประสบการณ์เดิมหรือจากบริบทที่ล้อมรอบของคนในสังคมและวัฒนธรรม โดยทั่วไป  มักประทับ “ภาพจำ” ว่า “เพศ” ในสังคมไทย มีเพียง “เพศชาย” และ “เพศหญิง” การรับรู้และเรียนรู้เช่นนี้ เสมือนด้อยค่า “ความเสมอภาคทางเพศ” ส่งผลถึงวิธีคิดต่อ “เพศหลากหลาย” ให้ยากที่จะมีที่ยืน 

แม้ว่า กฎหมายในปัจจุบันที่รัฐบัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรทำให้ ที่ยืนของ “เพศหลากหลาย” มีแนวโน้มได้รับการตอบรับที่ดี แต่วิถีปฏิบัติ ที่ยังคงบรรทัดฐานกำหนดให้คนในสังคมประพฤติปฏิบัติอย่างเข้มงวด มีการควบคุมที่รุนแรงเพื่อป้องกันการฝ่าฝืน หากคนในสังคมปฏิบัติตามจะถูกนับว่า เป็นสิ่งดีงาม หากฝ่าฝืนหรือละเมิดจะนับเป็น “คนผิด” “คนไม่ดี”  

ที่ยืนของ “เพศหลากหลาย” นี้ จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องเล่นกับ การรับรู้ วิธีคิด และ ความรู้สึกของจารีต ศีลธรรม ประเพณี ที่มีรากเหง้ามาจากมโนสำนึกว่า 

“เพศหลากหลาย เป็นเรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องเสื่อมเสียที่ต้องปกปิด” 

ความละเอียดอ่อนซับซ้อนและลึกซึ้งของบรรทัดฐานทางสังคมดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินวิถีปฏิบัติต่อ “เพศหลากหลาย” กับ “ภาพจำ” ที่เปลี่ยนผ่านหรือไม่? อย่างไร? คำตอบเหล่านี้ อยู่ที่ไหน? อยู่กับใคร? เป็นเรื่องท้าทายที่ต้องไปให้ถึง 


อ้างอิง

  • Human Rights Watch. (2008, December 11). UN: General Assembly to Address Sexual Orientation and Gender Identity. Retrieved from https://www.hrw.org/news/2008/12/11/un-general-assembly-address-sexual-orientation-and-gender-identity
  • United Nations. (n.d.). The 17 Goals. Retrieved from https://sdgs.un.org/goals
  • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 2559. นโยบายการดำเนินงาน กรมควบคุมโรคประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2560. เอกสารประกอบการประชุม ประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วันที่ 19 ตุลาคม 2559 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ 
  • โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน, 2563. ผลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพันในองค์กรของคนทำงาน ระดับประเทศ ประจำปี 2563. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
  • โครงการการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรแบบยั่งยืน: จากมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่มหาวิทยาลัยสุขภาวะ 2562. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  
  • The Standard. https://thestandard.co/thammasat-let-students-dress-according-to-their-sex/
  • ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/csr-hr/news-684398
  • สิทธิมนุษยชนในคนข้ามเพศ. (2560, กันยายน16). ไทยรัฐฉบับพิมพ์. สืบค้นจากhttps://www.thairath.co.th/news/society/1070779.
295401
โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน (HAPPINOMETER)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล) ต่อ 538 (คุณปรียา พลอยระย้า)
ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย (TCHS)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 520 (คุณสุภาณี ปลื้มเจริญ) ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)
โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน (Happy University)
โทร 02 441 0201 4 ต่อ 426 (นางสาวศกุนตลา แสงสุวรรณ) 536 (นางสาวพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)