ข่าวประชาสัมพันธ์

Happy Money ของคนทำงานไทยในช่วงโควิด-19 เฉลิมพล แจ่มจันทร์
หน้าหลัก / ข่าวประชาสัมพันธ์ / Happy Money ของคนทำงานไทยในช่วงโควิด-19 เฉลิมพล แจ่มจันทร์
17/12/2564 | 1090 ครั้ง

"การเงินและรายได้” ของคนทำงานถูกกระทบมากที่สุด

ผลสำรวจความสุขคนทำงาน (องค์กร) ในประเทศไทย ปี 2563  ด้วยเครื่องมือ “HAPPINOMETER” พบระดับความสุขของคนทำงานที่ลดลงจากปี 2562 เล็กน้อยโดยมีคะแนนความสุข (0-100 คะแนน) อยู่ที่ 59.5 คะแนน1 ในการสำรวจครั้งนี้ได้มีการสอบถามถึงประเด็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อความสุขของคนทำงานในมิติต่างๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเป็นรายมิติของความสุขทั้ง 9 มิติจาก HAPPINOMETER พบว่า สุขภาพเงินดี (Happy Money) เป็นมิติความสุข ที่มีสัดส่วนคนทำงาน ได้รับผลกระทบเชิงลบ (-) มากที่สุด ถึง 46% ตามมาด้วย สุขภาพกายดี (Happy Body) และผ่อนคลายดี (Happy Relax) ที่มีสัดส่วนคนทำงานได้รับผลกระทบเชิงลบ (-) สูงเช่นกันที่ 43%

ที่มา: การสำรวจ ความสุข ความพึงพอใจ และความผูกพันองค์กร ของคนทำงานในประเทศไทย ปี 2563

พิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ยังคงสูงขึ้นและลดลง ตามความรุนแรงของการแพร่ระบาดในแต่ละระลอก ผลกระทบจากความไม่ต่อเนื่องของการทำงานในหลายภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวและได้รับผลกระทบจากมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ความกังวลด้านสุขภาพและความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตการทำงานจากสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่หดตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่มิติความสุขในเรื่อง “การเงินและรายได้” “สุขภาพ” และ “ความเครียดความกังวล” จากการทำงาน จะเป็น 3 อันดับแรกของมิติความสุขของคนทำงานที่ได้รับผลกระทบลบจากโควิด-19

การเงินและรายได้ของคนทำงาน “ภาคขนส่ง ก่อสร้าง บันเทิง ที่พักและร้านอาหาร” ถูกกระทบมากที่สุด

ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่โควิด-19 ได้เริ่มแพร่ระบาดในประเทศไทย มาตรการต่างๆ ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม มาตรการล็อคดาวน์หรือกึ่งล็อคดาวน์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังสูง การประกาศงดการเดินทางข้ามพื้นที่ การใช้มาตรการเคอร์ฟิวห้ามการเดินทางและออกนอกสถานที่พำนักในช่วงเวลากลางคืน การสั่งปิดกิจการสถานประกอบการในหลายๆ ลักษณะที่มีความเข้มงวดแตกต่างกันไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่และแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการปิดเพื่อควบคุมแคมป์คนงานก่อสร้างและโรงงานการผลิตที่พบการแพร่ระบาดสูงภายใต้มาตรการที่เรียกว่า Bubble and Seal เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการขยายวงกว้างของการแพร่ระบาด โดยที่มาตรการเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต กิจกรรมการทำงาน การประกอบธุรกิจของสถานประกอบการในหลายภาคส่วน และเศรษฐกิจมหภาคภาพรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้ายที่สุดย่อมสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการและลูกจ้างคนทำงานในทุกภาคธุรกิจ

ตามที่ได้แสดงในส่วนที่แล้ว "การเงินและรายได้" ดูจะเป็นมิติความสุขที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อคนทำงานในประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบลบที่เกิดขึ้นนี้ มีความแตกต่างรุ่นแรงมากน้อยต่างกันไปในกลุ่มคนทำงานแต่ละภาคธุรกิจ 

จากข้อมูลการสำรวจฯ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคธุรกิจ หรือ ประเภทอุตสาหกรรมของคนทำงาน สิ่งที่พบและน่าสนใจ คือ กลุ่มคนทำงานที่เดือดร้อน ได้รับผลกระทบลบ (-) ด้านการเงินและรายได้มากที่สุดเป็น 3-4 ลำดับแรก ได้แก่ คนทำงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “การขนส่งและโลจิสติกส์” (ประเภทอุตสาหกรรม H) “การก่อสร้าง” (ประเภทอุตสาหกรรม F) “ธุรกิจบันเทิงและนันทนาการ” (ประเภทอุตสาหกรรม R) และ “ธุรกิจการโรงแรมและร้านอาหาร” (ประเภทอุตสาหกรรม I) ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรงอย่างชัดเจนจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น โดยในภาคธุรกิจเหล่านี้ คนทำงานถึงเกือบ 3 ใน 5 (52-59%) ได้รับผลกระทบลบ (-) ในมิติการเงินและรายได้ (Happy Money) ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับคนทำงานในภาคธุรกิจ การเงินและประกันภัย  การศึกษา และคนทำงานในกิจกรรมทางวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคนิค ที่มีสัดส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบลบ (-) น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่น

ที่มา: การสำรวจ ความสุข ความพึงพอใจ และความผูกพันองค์กรของคนทำงานในประเทศไทย ปี 2563

ติดตามและเฝ้าระวังกันต่อไป กับผลการสำรวจความสุขคนทำงาน ในปี 2564

ผลการสำรวจที่นำมาเขียนถึงนี้ เป็นข้อมูลที่จัดเก็บในช่วงปี 2563 (คาบเกี่ยวเล็กน้อยในช่วงต้นปี 2564) ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนั้นยังไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในปี 2564 โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาที่อัตราการแพร่ระบาด การเสียชีวิตจากโควิด-19 มีความชัดเจนและรุนแรงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดเพิ่มสูงขึ้นจนถึงสูงสุดในหลายพื้นที่ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์2 ได้เปิดเผยตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานในประเทศจากรายงานภาวะสังคมไทย ประจำไตรมาส 3 ซึ่งพบว่ามีมากถึง 8.7 แสนคน คิดเป็น 2.25% ของกำลังแรงงาน โดยเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดตั้งแต่ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา 

ในแง่ผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 ต่างๆ ที่ออกมา คนทำงานในภาคธุรกิจขนส่ง ก่อสร้าง บันเทิง ที่พักและร้านอาหาร น่าจะยังคงเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางตรงค่อนข้างมาก แต่ในขณะเดียวกันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มกินระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานขึ้นเป็นเกือบ 2 ปี จนถึงปัจจุบัน ภาคธุรกิจอื่นทุกๆ ภาค ย่อมเริ่มเห็นผลกระทบที่ได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลต่อเนื่องไปยังคนทำงานทั้งผลเล็กน้อย เช่น การถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงาน ลดค่าตอบแทนหรือรายได้ ไปจนถึงขั้นเลวร้ายสุดที่อาจถูกเลิกจ้าง หรือ ตกงาน สถานการณ์ผลกระทบเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังกันต่อไป 

ในขณะที่บทความนี้กำลังถูกเขียนขึ้น โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน (HAPPINOMETER) โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการสำรวจความสุขคนทำงาน (องค์กร) ในประเทศไทย ปี 2564 ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้น เราน่าจะได้เห็นตัวเลขค่าคะแนนความสุขของคนทำงานไทยในปี 2564 กันว่าจะเพิ่มขึ้นหรือว่าปรับลดลงอย่างไร รวมถึงได้เห็น ผลกระทบของโควิด-19 ต่อความสุขของคนทำงานในมิติต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคสถานประกอบการเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำมาใช้พิจารณาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างเสริมความสุขให้กับคนทำงานไทยในยุคโควิด-19 ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป 


อ้างอิง

  1. โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน (HAPPINOMETER). (2564). ผลการสำรวจ ความสุข ความพึงพอใจ และความผูกพันองค์กร ของคนทำงานในประเทศไทย ปี 2563. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล [online: http://www.happinometer.com/web/news.php?id=28]
  2. สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.). (2564). เอกสารนำเสนอ “ภาวะสังคมไทย ไตรมาสสาม ปี 2564” วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2564. สศช. [online: https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5492]
295446
โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน (HAPPINOMETER)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล) ต่อ 538 (คุณปรียา พลอยระย้า)
ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย (TCHS)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 520 (คุณสุภาณี ปลื้มเจริญ) ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)
โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน (Happy University)
โทร 02 441 0201 4 ต่อ 426 (นางสาวศกุนตลา แสงสุวรรณ) 536 (นางสาวพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)