ข่าวประชาสัมพันธ์

Clubhouse แหล่งเรียนรู้ใหม่ของคนทำงาน
หน้าหลัก / ข่าวประชาสัมพันธ์ / Clubhouse แหล่งเรียนรู้ใหม่ของคนทำงาน
18/03/2564 | 948 ครั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กำลังเป็นกระแสอย่างถล่มทลาย ที่ ณ จุดนี้ไม่มีใครไม่พูดถึงกับแอปพลิเคชัน ที่มีชื่อว่า “Clubhouse”

หลังจากที่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เข้าร่วมการสนทนากับ วแลด เทเนฟ (Vlad Tenev) ผู้ก่อตั้ง Robinhood แอปเทรดหุ้นชื่อดัง ได้พูดถึงประเด็นดราม่าเรื่องหุ้นอย่างเผ็ดร้อน ก็ทำให้แพลตฟอร์มห้องสนทนาออนไลน์นี้ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น เหล่าคนดังในประเทศไทยก็เริ่มหยิบยกแพลตฟอร์มนี้มาใช้เปิดเรื่องพูดคุยกับเหล่าผู้ติดตามมากขึ้น

ทำความรู้จักกับ Clubhouse

Clubhouse เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียน้องใหม่ ที่เปิดตัวในปี 2020 โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์จาก Alpha Exploration Co. โดยจะเน้นไปที่การใช้งาน ด้วยการพูดคุยผ่านเสียงเป็นหลัก หรือจะอธิบายง่าย ๆ ว่า เป็นการประชุมสายออนไลน์นั่นเอง เพราะมีแต่เสียง ไม่มีภาพหรือข้อความ และเป็นเสียงที่มาจากการพูดคุยกันสด ๆ ไม่อนุญาตให้บันทึก เสียงเพื่อฟังย้อนหลัง เป็นเหมือนศูนย์รวมของห้องพูดคุย ที่มีหัวข้อที่หลากหลายจากทั่วโลก

ซึ่งภายในแต่ละห้องของ Clubhouse สถานะของผู้ใช้งานจะมีด้วยกันอยู่ 3 แบบ ได้แก่

  • Moderator (ผู้ดูแลห้อง, พิธีกร) ทำหน้าที่ควบคุมห้อง เปิดห้อง มอบสิทธิ์เปิด หรือปิดไมค์ใครก็ได้
  • Speaker (ผู้พูด) สามารถเปิดไมค์สนทนาในห้อง (แต่ Moderator ต้องอนุญาตก่อน) ขอสิทธิ์ได้ด้วยการยกมือ
  • Listener (ผู้ฟัง) สถานะเริ่มต้นที่ทุกคนได้ สามารถขอสิทธิ์เป็น Speaker ได้ด้วยการยกมือ

โดยในแต่ละห้อง ทาง Moderator จะกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เอาไว้อย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไร อะไรบ้างที่ห้ามทำ ฯลฯ

ความพิเศษของ Clubhouse คือ เราสามารถสร้างห้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อที่เราสนใจได้ หรือในขณะเดียวกัน เราก็สามารถเข้าฟังในห้องต่าง ๆ ที่เราสนใจได้เหมือนกัน เปรียบเสมือนการสลับบทบาทหน้าที่ จากผู้พูดไปเป็นผู้ฟัง และผู้ฟังกลายเป็นผู้พูด ที่ต้องพร้อมรับกับการถามคำถามจากบุคคลที่ร่วมฟังในห้องนั้น ๆ โดยที่ท่านไม่ได้ตั้งตัวว่า คำถามนั้นจะเป็นอย่างไร และถามโดยใคร สิ่งนี้ถือว่า เป็นเสน่ห์ของ Clubhouse เลยก็ว่าได้

Clubhouse กับคนทำงาน

เมื่อพูดถึงช่องทางการเรียนรู้ต่าง ๆ ของคนในแต่ละช่วงวัย เรามักนึกถึง YouTube, Facebook, Podcast, Ted Talk และช่องทางอื่น ๆ ซึ่งเป็นช่องทางที่ง่ายต่อการเข้าถึง ซึ่งตัวแอปพลิเคชั่น “Clubhouse” ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และถกเถียงในหัวข้อต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การศึกษา การลงทุน การตลาด การพัฒนาทักษะชีวิตต่าง ๆ ทั้ง Hard Skill & Soft Skill หรือแม้กระทั่งเรื่องจิปาถะทั่วไป ที่คนทำงานอย่างเราพลาดไม่ได้...

ซึ่งคนวัยทำงานก็เป็นอีกหนึ่งในเจเนอเรชันที่ถูกคาดหวังให้เป็นช่วงวัยที่ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อการพัฒนาตัวเองทั้ง Hard Skill & Soft Skill บางคนอาจจะเริ่มตั้งแต่ทักษะทางภาษา ทักษะด้าน IT หรือแม้แต่ทักษะการพูดคุยกับลูกค้าอย่างมีศิลปะ วันนี้จะชวนทุกท่านมองย้อนไปดูข้อมูลการใฝ่หาความรู้ของคนทำงานไทยไปพร้อม ๆ กัน

จาก ‘การสำรวจการอ่านของคนไทย’ ของ ‘สำนักงานอุทยานการเรียนรู้’ (TK park)  กับ ‘สำนักงานสถิติแห่งชาติ’ ได้ชี้ให้เห็นว่า คนไทยใช้เวลาอ่านเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน เมื่อเทียบกับการสำรวจในปี 2558 ที่มีการอ่านอยู่ 66 นาทีต่อวัน และปี 2556 อ่าน 37 นาทีต่อวัน  เมื่อจำแนกตามช่วงวัย พบว่า วัยรุ่นอายุ 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราการอ่านนานสุดอยู่ที่ 109 นาทีต่อวัน , เด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี มีแนวโน้มการอ่านเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงว่าการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในกลุ่มนี้ค่อนข้างได้ผล  

ขณะที่วัยผู้ใหญ่  25-50 ปี (วัยทำงาน) เวลาที่ใช้ในการอ่านมีเพียง 77 นาทีต่อวัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 75.6% และสื่อสังคมออนไลน์ 74.4% ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของทุกช่วงวัย

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจความสุขของคนทำงานไทย โดยโครงการ การพัฒนาสร้างเสริมความสุขคนทำงานเพื่อความยั่งยืน โดยดำเนินงานในรูปแบบ “ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีตัวชี้อวัดเรื่อง ‘การใฝ่รู้ดี’ (Happy Brain) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสุขที่สำคัญ โดยมีประเด็นคำถามที่เกี่ยวกับความสนใจในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ การสนใจที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อความก้าวหน้าในชีวิต และการได้มีโอกาสที่จะได้รับการอบรม/ ศึกษาต่อ/ ดูงาน เพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถของตนเอง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

จากผลการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ปี 2560 – 2562 พบว่า มิติใฝ่รู้ดี (Happy Brain) มีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุข ดังนี้

รูปภาพ 1: กราฟแสดงค่าคะแนนเฉลี่ยความสุข “มิติใฝ่รู้ดี” จำแนกตามปี 2560-2562

ในปี 2560 2561 และ 2562 คนทำงานมีค่าคะแนนความสุขเฉลี่ยในมิติใฝ่รู้ดี เท่ากับ 58.5 และ 61.1 คะแนนตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับ “HAPPY” หรือ “ระดับความสุขตามเป้าหมาย” (คะแนน 50-74.99 คะแนน) แต่ในปี 2561 พบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยตกลงมาเหลืออยู่เพียง 49.5 คะแนน ถือว่า อยู่ในระดับ “UNHAPPY” หรือ “ไม่มีความสุข” (คะแนน 25-49.99 คะแนน)

และเมื่อพิจารณาแยกตามรุ่นประชากรหรือที่เรียกกันติดปากว่า เจเนอเรชัน (Generation) เราพบความน่าสนใจที่ว่า “การใฝ่รู้” ของละช่วงวัยไม่มีความแตกต่างกันมากนัก

รูปภาพ 2: กราฟแสดงค่าคะแนนเฉลี่ยความสุข “มิติใฝ่รู้ดี” จำแนกตามรุ่นประชากร (Generation)

เป็นที่แน่นอนว่า กลุ่มคน GEN Y มีการเข้าถึงข้อมูล เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาตนเองได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ ตามมาด้วยคน GEN X และ BABY BOOM ตามลำดับ

ซึ่ง Clubhouse ถือว่า ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทำงานได้โดยตรง เพราะผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าใช้แอปฯ นี้มาสักระยะหนึ่งและคิดว่า มีสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจหลายเรื่อง อาทิ เมื่อเราสนใจที่จะเข้าฟังเรื่องที่เกี่ยวกับ Work-Life Balance ก็สามารถกดเข้าไปฟังเทคนิคต่าง ๆ จากกูรูที่เป็น Speaker รวมถึงประสบการณ์จากผู้ที่ประสบพบเจอปัญหาเดียวกับเราที่ไม่สามารถจัดการชีวิตกับงานให้เกิดความสุขในการทำงานได้ และที่ว้าวไปกว่านั้นคือ เราสามารถยกมือ (กดยกมือ ) เพื่อถาม Speaker ได้เลยว่า เราควรทำอย่างไร มีข้อเสนอแนะที่เหมาะสมกับบริบทของเราหรือไม่ หรือแม้แต่เรื่องปกิณกะ เช่น การฟังเทศน์ ฟังธรรมในตอนเช้า ที่เราสามารถถาม – ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์ได้โดยที่เราไม่ต้องไปวัด เพราะวัดอยู่กับเราที่ Clubhouse เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จะเห็นได้ว่า Clubhouse ไม่ใช่แอปฯ เพื่อการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเหมือนที่ผ่อนคลายและเป็นเพื่อนไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อได้อ่านบทความนี้แล้ว จะได้พบกับทุกท่านใน Clubhouse

เพราะเมื่อโลกเปลี่ยน เราเปิด ไม่มีอะไรที่เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ ทุกคนพร้อมที่จะเรียนรู้และก้าวทันโลก

หมายเหตุ 1. Clubhouse ยังเปิดให้ใช้บริการบนแพลทฟอร์มในระบบ iOS เท่านั้น
หมายเหตุ 2. ถึงแม้จะโหลดแอปฯ มาแล้ว แต่ก็ต้องถูกเชิญจากเพื่อนที่อยู่ใน Clubhouse ถึงจะสามารถเข้าแอปฯ ได้

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: http://www.happinometer-tchs.com/web/

วันนี้...มีอะไรในออฟฟิศ
Topic ที่จะชวนคุณ หันมาสนใจในกลุ่มคนวัยทำงาน
ทั้งสาระ ความรู้ มุมมอง อัพเดตขอมูลใหม่ ๆ กับกระแสสังคมหรือแม้แต่เรื่องที่ชวนเม้าท์ในออฟฟิศ
By Kan Priya


อ้างอิง

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2563). การสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ. 2561. กรุงเทพฯ: กองสถิติพยากรณ์ สํานักงานสถิติแห่งชาติ
  • Politeguy. (2564). แอป Clubhouse คืออะไร เล่นยังไง มีดีอะไร สมัครยังไง ทำไมถึงต้องดาวน์โหลดไว้ในเครื่อง?. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564. https://droidsans.com/what-is-clubhouse-how-to-play-and-register/#:~:text=Clubhouse
  • สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2560). ผลการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ปี 2560 (ไตรมาส1). นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
  • สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2561). ผลการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ปี 2561 ไตรมาส 1 (เดือนมกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2561). นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

 

ติดตามต่อได้ที่ https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=413

295418
โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน (HAPPINOMETER)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล) ต่อ 538 (คุณปรียา พลอยระย้า)
ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย (TCHS)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 520 (คุณสุภาณี ปลื้มเจริญ) ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)
โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน (Happy University)
โทร 02 441 0201 4 ต่อ 426 (นางสาวศกุนตลา แสงสุวรรณ) 536 (นางสาวพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)